29 พฤศจิกายน 2554

เคล็ดการซื้อบ้านตอนที่ 6 : ตกแต่งบ้านอย่างมีความสุข


                                
               
                เมื่อเราดำเนินการจนได้บ้านมาแล้ว สิ่งแรก ๆ ที่คนทั่วไปจะทำคือตกแต่งบ้าน แต่จะตกแต่งอย่างไรให้มีความสุข และผูกพันเหมือนการแต่งงาน เรื่องนี้ไม่ยาก มีเคล็ดลับดังนี้

                ขั้นที่ 1 ไม่ต้องรีบตกแต่ง เพราะบ้านที่ซื้อมา เราจะอยู่กันนาน ๆ มีเวลาตกแต่งต่อเติมไม่น้อยกว่า 10 ปี วันแรกที่เข้าบ้านใหม่ ให้ถ่ายรูปเก็บไว้ เพราะเมื่อเวลา 5 ปี ผ่านไป ข้าวของต่าง ๆ จะเต็มบ้าน และเมื่อ 10 ปี ผ่านไป อาจจะเข้าขั้นรก จนไม่รู้ว่า จะเอาของไปวางไว้ไหน จนไม่สามารถจำภาพวันแรกที่ย้ายเข้าบ้านได้เลย ดังนั้น การเร่งการตกแต่งบ้าน จะเป็นการเร่งความรกของบ้านมากยิ่งขึ้น

                ขั้นที่ 2 วางแผนระยะยาวในการต่อเติม เพื่อประโยชน์ใช้สอยที่ต้องการจริง ๆ เช่น เพิ่มพื้นที่ซักล้าง ต่อเติมห้องครัว ห้องเก็บของ เป็นต้น เหตุที่ต้องวางแผนเพื่อให้การต่อเติมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีบ้านหลายหลังที่อยากจะทำก็ทำ ออกมาบ้านเลยมีลายคล้าย ๆ ตุ๊กแก เลยทีเดียว

                ขั้นที่ 3 ต้องตั้งหลักในการกำหนดสไตล์ของบ้านให้เหมาะกับกำลังทรัพย์ เพราะจะมีผลต่ออุปกรณ์ตกแต่ง และราคา มีหลายคนตั้งใจจะทำเป็นสไตล์บาหลี แต่แต่งได้แค่ห้องเดียว เงินไม่พอเลยสวยแค่ห้องเดียว

                ขั้นที่ 4 กำหนดงบประมาณในแต่ละปีในการบำรุงรักษา ตกแต่ง ต่อเติม เนื่องจากกิจกรรมหล่านี้จะที่ใช้เงินเยอะ จึงต้องมีการตระเตรียมไว้อย่างชัดเจน

การที่ค่อยๆ ตกแต่งบ้าน โดยไม่กะทำให้เสร็จในครั้งเดียวจะทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันกับบ้าน มีความหวงแหน ทำให้เอาใจใส่ดูแล บำรุงรักษาอยู่สม่ำเสมอ บ้านจะไม่โทรมเร็ว

                แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ การตกแต่งบ้านไม่ควรใช้เงินกู้ เพราะจะกลายภาระที่เกินตัว เนื่องจากเราจะต้องเก็บเงินเพื่อการซ่อมแซมอยู่แล้วในอนาคต การตกแต่งด้วยการกู้จึงเหมือนกับเป็นการเร่งเอาอนาคตของบ้านมาใช้ในปัจจุบัน พอมีเหตุที่ต้องใช้เงินจริง ๆ อาจจะเกิดปัญหาไม่มีเงินสดสำรองในการซ่อมแซมบ้านก็ได้

               เท่านี้ก็จะได้อยู่บ้านที่เราพอใจ และมีความสุข เมื่อใจมีความสุข โรคภัยไข้เจ็บก็จะไม่ค่อยมาเยือน

นายไทยเครดิต
twitter @TCRBank

25 พฤศจิกายน 2554

เคล็ดการเลือกซื้อบ้านตอนที่ 5 เลือกธนาคารให้ถูกใจ

การเลือกซื้อบ้านตอนที่ 5 เลือกธนาคารให้ถูกใจ

คนที่มีเครดิตดีแล้ว มีโอกาสในการเลือกสถาบันการเงินได้มากกว่า


       เมื่อตัดสินใจจะซื้อบ้านแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการตัดสินใจเลือกสถาบันการเงินที่เราจะทำธุรกรรมทางการเงิน แต่การเลือกสถาบันการเงินอย่างไรให้ถูกใจและมีความสุขในการผ่อนชำระนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือกของท่าน

      เมื่อมีโอกาสในการเลือกใช้สถาบันการเงินได้ ข้อแนะนำในการพิจารณาเลือกใช้สถาบันการเงินคือ

  1. โอกาสที่สถาบันการเงินจะอุนมัติวงเงิน
  2. ดอกเบี้ย (ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว) อย่าดูเฉพาะปีแรก แต่ให้ดูตลอดอายุสัญญา
  3. ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าประเมิน ค่าทำสัญญา
  4. เงื่อนไขอื่น ๆ ที่มีในการผ่อนชำระ เช่น ข้อห้ามการปิดบัญชี ข้อห้ามการผ่อนชำระเกินกำหนด
  5. สถานที่ชำระเงิน ความสะดวกสบาย ค่าธรรมเนียม
  6. การบริการลูกค้าหลังการขาย

       เมื่อพิจารณาข้อเสนอต่าง ๆ รอบคอบแล้วจึงตัดสินใจเลือกธนคารที่คิดว่าเหมาะกับตนเอง แค่นี้ก็สามารถผ่อนชำระได้อย่างสบายใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

นายไทยเครดิต
twitter @TCRBank

เคล็ดการเลือกซื้อบ้านตอนที่ 3 เลือกอย่างไหนดีเอ่ย ?


"บ้านเดี่ยวมีบริเวณ เทียบกับชีวิตชิว ๆ ในคอนโดฯ"

เมื่อ... ตอนที่แล้ว เอาบ้านใหม่ หรือ บ้านมือสอง หลายท่านที่ติดตามอ่านน่าจะตัดสินใจได้บ้างแล้ว ว่าจะเลือกบ้านมือใหม่ หรือมือสอง

ในตอนนี้...เราจะมาลงรายละเอียดเรื่องการเลือกประเภทของบ้าน ประเภทของบ้านก็มีให้เลือกอีกหลายประเภทแตกต่างกันตามรูปแบบการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น...

บ้านเดี่ยว หมายถึงบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินที่ไม่มีผนังส่วนใดของบ้านเป็นผนังของบ้านอื่น เรียกว่า ตัวบ้านเป็นอิสระออกจากบ้านอื่น บ้านแบบนี้จะได้ความเป็นส่วนตัวมากที่สุด แต่ใช้ประโยชน์ในการใช้สอยน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับที่ดิน การสร้างบ้านจะมีอิสระมากที่สุดเพราะสามารถออกแบบอย่างไรก็ได้ ตามขนาดของที่ดิน

บ้านแฝด เป็นบ้านที่ต้องอยู่ติดกันเป็นคู่ ๆ มีผนัง 1 ด้านติดกันและบ้านจะมีหน้าตาเหมือนกัน 2 หลัง เพียงแต่กลับข้างกัน บ้านแบบนี้ความเป้นส่วนตัวจะน้อยลง มีพื้นที่ที่ต้องใช้ร่วมกันกับผู้อยู่อาศัยคนอื่น แต่ข้อดีคือ ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี บ้านแบบนี้จะมีราคาถูกกว่าบ้านเดี่ยวอยู่พอสมควร

ทาวน์เฮ้า เป็นบ้านที่สร้างติดกันเป็นแผง จะมีผนัง 2 ข้าง (ซ้าย-ขวา) ที่เป็นผนังของบ้านอื่น มีโครงสร้างหลังคาในโครงสร้างเดียวกัน พื้นที่ใช้สอยไม่มาก ประมาณ 16-30 ตารางวา มักจะเป็นที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงมาก ตั้งแต่หลักแสนถึง 3 ล้าน ความเป็นส่วนตัวก็จะลดลง เพราะมีคนมาอยู่เป็นเพื่อนทั้ง 2 ข้าง

อาคารพาณิชย์ บางคนเรียกว่าตึกแถว เพราะมีลักษณะเป็นตึกที่ตั้งเป็นแถวยาว มักจะสร้างอยู่ริมถนน เน้นการใช้งานเพื่อการค้าขายมากกว่าเป็นที่อยู่อาศัย ตึกแถวมักจะไม่ค่อยมีการออกแบบอะไรมากนัก ลักษณะจะเป็นตึกเหลี่ยม

โฮมออฟฟิศ เป็นบ้านกึ่งสำนักงาน เกิดจากการผสมผสานกันระหว่าง ทาวน์เฮ้าส์กับตึกแถว ออกแบบเพื่อให้สามารถเปิดเป็นสำนักงานด้านล่างได้ และสามารถใช้อยู่อาศัยด้านบน มีการออกแบบให้สวยงาม เน้นเรื่องที่จดรถ แต่ลักษณะจะสร้างเป็นแนวเช่นเดียวกับถึกแถวและทาว์นเฮ้า มีหลายชั้น 3-5 ชั้น เพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยภายในเพิ่มขึ้น แต่ออาจะไม่อยู่ริมถนนก็ได้

คอนโดมีเนียม บางคนอาจจะเรียกว่าแฟลต ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน ต่างกันที่ คอนโดมีเนียม เป็นอเมริกัน แฟลต เป็น อังกฤษ มีลักษณะเป็นห้อง ๆ เจ้าของจะได้เอกสารสิทธิ์อาคารชุด ไม่ใช่โฉนด จะต้องมีกฎระเบียบการอยู่ร่วมกัน มีการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดเพื่อใช้บริการพื้นที่ส่วนกลาง นิยมสร้างในพื้นที่ใกล้เมืองหรือจุดที่สามารถเดินทางได้สะดวก คนส่วนใหญ่อาศัยการโดยสารสาธรณะ เป็นที่อยู่อาศัยที่มีความเป็นส่วนตัวน้อยที่สุด มีพื้นที่ใช้สอยน้อยที่สุดทั้งหมดนี้เป็นรูปแบบของที่อยู่อาศัยแบบต่าง ๆ ผู้ที่จะซื้อบ้านก็ให้เลือกเอาตามความต้องการของตนเองเป็นที่ตั้ง

เมื่อทราบรายละเอียดเรื่องการเลือกประเภทของบ้านแล้วคงตัดสินใจเลือกบ้านในฝันได้ไม่ยากอีกต่อไป

นายไทยเครดิต
twitter @TCRBank

22 พฤศจิกายน 2554

เคล็ดการเลือกซื้อบ้านตอนที่ 4 จะผ่อนไหวไหมเนี่ย ?


รู้จะซื้อบ้านหลังใหญ่แค่ไหน ต้องประเมินกำลังตัวเองก่อน

จะซื้อหลังนึง ก็ต้องเลือกให้ดีๆ หลังจากได้ทำเลแล้ว ลักษณะบ้านแล้ว ถึงตอนนี้ก็ต้องเลือกขนาดบ้าน และราคา ขั้นตอนนี้ต้องมาประเมินตัวเองแล้วว่า รายได้และรายจ่ายในแต่ละเดือนจะเหลือผ่อนได้แค่ไหน

ขั้นที่ 1 คำนวณเบื้องต้น คือ เอารายได้แบบแน่นอนเป็นสำคัญ คนที่มีเงินเดือนจะใช้เงินเดือน บวกรายได้พิเศษต่าง ๆ ที่เป็นประจำแน่นอน สำหรับรายได้ที่ไม่ประจำ ให้คิดจากรายได้ย้อนหลัง 6 เดือนมารวมกันแล้วหารด้วย 6 (คือการเฉลี่ยย้อนหลัง 6 เดือน)

คนที่มีรายได้จากการทำการค้า ให้นำกำไรสุทธิแบบที่แสดงได้ มาเฉลี่ยย้อนหลัง 6 เดือนเช่นกัน

*** กรณีผู้กู้ร่วมกันหลายคน ให้ทำรายการนี้ โดยคิดทีละคนของผู้ที่จะร่วมกันกู้ แล้วค่อยนำมารวมกัน(ข้ออื่นๆ ถัดไปก็ให้ทำในลักษณะเดียวกัน) ***

ขั้นที่ 2 หารายจ่ายประจำ โดยให้คิดค่าอาหารที่ต้องรับผิดชอบทั้งหมด รวมถึงผู้อยู่ในอุปการะทั้งหมด ค่าใช้จ่ายน้ำ-ไฟ-โทรศัพท์-โทรทัศน์-Internet-น้ำมันรถ-รถเมล์ ฯลฯ ค่าสินค้าอุปโภคบริโภคเช่น น้ำยาซักผ้า อุปกรณ์ใช้ในบ้านต่าง ๆ สำหรับคนที่มีค่าเทอมลูก ตัวเอง หรือค่าอะไรก็ตามที่เป็นงวด ๆ ให้นำมาเฉลี่ยเป็นรายเดือนให้หมด แล้วนำรวมกัน

ขั้นที่ 3 ให้คิดเงินออม 10% ของรายได้ในขั้นที่ 1 โดย 10% นี้ คือค่าซ่อมแซมบ้าน 5% และค่าใช้จ่ายยามฉุกเฉิน (เช่นค่ารักษาพยาบาล) อีก 5%

ขั้นที่ 4 เอาขั้นที่ 1 ลบ ขั้นที่ 2 ลบ ขั้นที่ 3 จะเหลือเงินสำหรับจ่ายค่างวดผ่อนบ้านขั้นต้น แล้วให้หักค่างวดผ่อนอื่นๆ ทุกชนิด และค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยรายเดือน เช่น ค่าอาหารหรู ๆ ค่าท่องเที่ยว ค่าซื้ออุปกรณ์ความบันเทิงต่าง ๆ จะได้เงินค่างวดสุทธิ

ขั้นที่ 5 นำผลลัพธ์ในขั้นที่ 4 ไปคูณด้วยอัตราดังนี้
- ถ้าผู้กู้อายุไม่เกิน 30 ปี คูณด้วย 120
- ถ้าผู้กู้อายุไม่เกิน 35 ปี คูณด้วย 100
ถ้าผู้กู้อายุไม่เกิน 40 ปี คูณด้วย 90
- ถ้าอายุไม่เกิน 45 ปี คูณด้วย 80

ตัวเลขที่ได้ จะเป็นราคาบ้านโดยประมาณ ที่น่าจะสามารถซื้อและผ่อนชำระได้

นายไทยเครดิต
twitter @TCRBank

เคล็ดการเลือกซื้อบ้านตอนที่ 2 บ้านเก่า-บ้านใหม่



"จะซื้อบ้านใหม่ก็แพง บ้านมืองสองก็โทรม เอาไงดีเนี่ย"
เมื่อตอนที่แล้ว ได้พูดถึงการเลือกทำเลในการซื้อบ้านไปแล้ว เมื่อได้ทำเลก็ต้องมาดูว่าจะซื้อบ้านใหม่ หรือ บ้านมือสองดี

การซื้อบ้านใหม่ จะมีข้อได้เปรียบคือ ได้ของใหม่ ถ้าเป็นของโครงการก็มีการรับประกันจากทางโครงการด้วย ได้แบบบ้านทันสมัย การดูแลรักษาในช่วงต้นน้อยกว่า
 แต่บ้านมือสองจะได้ทำเลที่ดีกว่าในราคาที่เท่ากัน เพราะราคาบ้านมือหนึ่งจากโครงการ จะถูกบวกค่าพัฒนาที่ดินเข้าไปด้วย บ้านมือสองได้เห็นสภาพแวดล้อมจริง รวมถึงเพื่อนบ้าน สภาพถนน สภาพน้ำท่วม ร้านค้า ปัญหาชุมชน ขยะ และอื่น ๆ จิปาถะ แต่ต้องยอมรับสภาพในการถูกใช้งานของเจ้าของเดิม อาจจะมีการซ่อมแซมก่อนเข้าอยู่จริง และใช้เวลาในการค้นหาที่นานกว่าซื้อจากโครงการ ต้องระวังเรื่องการย้อมแมวขาย
ปัญหาทางกฎหมายจะสามารถตรวจสอบได้จากเล่มประเมินในกรณีที่กู้จากธนาคาร หรือ จ้างบริษัทประเมินเอง ในกรณีที่ซื้อเงินสด เพื่อดูว่า ที่ดินอยู่ในแนวเวรคืน ติดปัญหาการโอน การถูกอาญัติทรัพย์หรือไม่ ถ้าติดปัญหาจะได้แก้ไขหรือเลือกบ้านหลังใหม่ได้ทันท่วงที
ดังนั้น ประเด็นเรื่องบ้านใหม่หรือบ้านมือ 2 ต้องตัดสินให้ดี ๆ เลือกแบบที่อยู่แล้วสบายใจ มีความสุขที่สุด
 นายไทยเครดิต
twitter @TCRBank

การเลือกใช้บัญชีเงินฝาก


                "เลือกเปิดบัญชี มีเยอะแยะ เลือกไม่ถูกเลย"
เมื่อไม่กี่วันนี้มีคนมาถามว่า จะใช้เปิดบัญชีเงินฝากประเภทไหนดี มีเยอะแยะไปหมดเลย ก็เลยต้องชวนให้ผู้ถามนั่งลงแล้วค่อยๆ คุยกัน เพราะการเลือกบัญชีเงินฝาก มีประเด็นที่ต้องคำนึงถึงหลายเรื่อง
เรื่องที่ 1 ทำความรู้จักกับบัญชีเงินฝาก บัญชีเงินฝากมีหลายประเภท ประเภทแรกเป็นประเภทที่ใช้กันเยอะ ๆ คือบัญชีออมทรัพย์ บัญชีประเภทนี้จะเป็นบัญชีที่สามารถฝากถอนได้ตลอดเวลา ดอกเบี้ยจะคิดเป็นรายวันตามจำนวนเงิน และจำนวนวันที่ฝากไว้ ไม่ต้องเสียภาษี ถ้าได้รับดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี
เงินฝากประจำ เป็นเงินฝากที่มีระยะเวลาในการฝากแน่นอน จ่ายดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนด (ซึ่งบางครั้งอาจจะมีให้ก่อนได้) แต่ถ้าฝากไม่ถึงระยะเวลาที่กำหนด จะไม่จ่ายดอกเบี้ยเลย หักภาษีดอกเบี้ยจ่าย 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ
เงินฝากกระแสรายวัน เป็นเงินฝากที่ไม่จ่ายดอกเบี้ย (หรืออาจจะมีบ้างอย่างของธนาคารไทยเครดิต) ไม่มีสมุดคู่ฝาก และใช้การถอนด้วยเช็ค ดอกเบี้นต้องเสียภาษี 15% ด้วย
เงินฝากปลอดภาษี เป็นเงินฝากที่กำหนดยอดฝากเท่า ๆ กันทุกเดือนตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น 24 เดือน 35 เดือน ได้รับดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนด และไม่ต้องเสียภาษี แต่เงื่อนไขคือ จะต้องมียอดฝากทุกเดือนเท่า ๆ กัน จะเป็นวันไหนก็ได้ขอให้อยู่ในเดือน และ 1 คนมีได้ 1 บัญชีเท่านั้น ธนาคารจะทำเรื่องไปแจ้งสรรพากรว่าได้มีเงินฝากประเภทนี้อยู่
เรื่องที่ 2 ระยะเวลาการฝากเงิน เรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็นกว่าอัตราดอกเบี้ยเสียอีก เพราะบัญชีเงินฝากแต่ละประเภทมีสภาพคล่องที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นการจัดเงินจะต้องเลือกให้สอดคล้องกับกระแสเงินของเจ้าของ ถ้าเป็นเงินที่ต้องหมุนเวียนบ่อย ๆ และต้องจ่ายโดยใช้เช็ค ควรจะเป็นกระแสรายวัน

ถ้าเป็นเงินที่เข้าออกบ่อยๆ ต้องการใช้บัตร ATM ควรจะเป็นออมทรัพย์ แต่ถ้าเงินก้อนอยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ใช้อะไร ระยะเวลานานกว่า 3 เดือนขึ้นไป ควรจะใช้เป็นเงินฝากประจำ และถ้าต้องการเก็บเงิน โดยสามารถกันเงินออมได้ทุก ๆ เดือนเท่า ๆ กัน ควรจะเป็นเงินฝากปลอดภาษี

เรื่องที่ 3 อัตราดอกเบี้ย เมื่อเราสามารถเลิอกประเภทได้แล้วให้มาเลือกอัตราดอกเบี้ยว่าควรจะเป็นของธนาคารไหน หรือระยะเวลาเท่าไหร่

ซึ่งเดี๋ยวนี้มีความหลากหลายของเงินฝากจนเริ่มคำนวณดอกเบี้ยไม่ถูกแล้ว เพราะเป็นขั้นบันได วิธีการคือ ให้คำนวนเป็นรายวัน โดยนำ (เงินต้นxอัตราดอกเบี้ย)/365 จะได้ดอกเบี้ยรับใน 1 วัน (ธนาคารนับแบบข้ามคืน) แล้ว x ด้วยจำนวนวันที่ได้รับอัตราดอกเบี้ยนั้นๆ ถ้าเป็นแบบขั้นบันได ให้คำนวณทีละขั้น แล้วนำมารวมกันเมื่อหมดระยะเวลาฝากเงิน จะได้เป็นดอกเบี้ยรับออกมา ทำแบบนี้เพื่อจะได้เห็นว่า เงินที่ได้รับเป็นเท่าไหร่เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน

เรื่องที่ 4 สถานที่ในการฝากถอน บางคนเดินทางตั้งไกลเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.5% ได้เงินมาอีก 200 บาท แต่เสียค่ารถไปกลับ 500 ไม่คุ้มกันเลย

เรื่องที่ 5 จำนวนเงินที่คุ้มครองจาก พรบ.สถาบันเงินฝาก ซึ่งวันที่ 11 สิงหาคม 54 -10สิงหาคม 55 จะคุ้มครอง 50 ล้านบาทต่อธนาคารต่อผู้ฝากเงิน และหลังจากนั้นไปจะคุ้มครอง 1 ล้านบาทต่อธนาคารต่อชื่อผู้ฝากเงิน (http://www.dpa.or.th/Main.aspx)

ในครั้งหน้า จะมาเล่าให้ฟังเรื่องบัญชีเงินฝาก กับ ตั๋วแลกเงินแตกต่างกันอย่างไร

นายไทยเครดิต
twitter @TCRBank

21 กรกฎาคม 2554

เคล็ดการเลือกซื้อบ้าน ตอนที่ 1 ทำเลไหน ที่ชีวิตลงตัว


"เลือกทำเลผิด อาจคิดจนตัวตาย"

                เมื่อพูดถึงบ้านแล้ว ใคร ๆ ก็อยากได้เป็นเจ้าของ และในชีวิตของคนเรา โอกาสที่จะซื้อบ้านได้หลายๆ ครั้ง มีน้อยเสียเหลือเกิน ในการซื้อบ้านแต่ละครั้ง จะต้องคิดให้ดีดี เพราะผู้ซื้อจะต้องใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้ไปอีกนาน จะย้ายบ้านหนี ก็ยาก เสียเงินเยอะ เสียเวลา
                ในการซื้อบ้านสักหลังมีสิ่งที่ต้องพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1.       ทำเล ที่ตั้งของบ้าน
2.       บ้านใหม่หรือมือสอง
3.       ประเภทบ้าน
4.       กำลังซื้อ และการผ่อนชำระ
5.       สร้างเองหรือบ้านจัดสรร
6.       ธนาคารที่จะเลือกใช้บริการ
7.       การตกแต่งบ้าน
ในตอนนี้จะกล่าวถึงการเลือกทำเล หรือที่ตั้งของบ้านก่อน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องคิดตั้งแต่จังหวัด ว่าจะอยู่ที่จังหวัดไหน เขตหรืออำเภออะไร ถนนเส้นไหน ใกล้ไกลกับตลาดหรือแหล่งสาธารณูปโภคมากน้อยแค่ไหน

การเลือกทำเล จะหมายถึงการเดินทางไปทำงาน การทำกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนรูปแบบการใช้ชีวิต ยกตัวอย่าง ถ้าต้องการทำเลกลางเมือง เพื่อให้เดินทางได้สะดวก ใกล้หรือติดรถไฟฟ้า รูปแบบการใช้ชีวิตก็จะเป็นแบบเมือง อาจจะไม่ต้องใช้รถยนต์ในการเดินทาง

แต่ถ้าอยากได้ทำเลชานเมือง สงบ เรียบง่าย เรื่องการเดินทางก็จะลำบากขึ้น อาจจะต้องมีรถ หรือ มีรถสาธารณะที่เข้าถึงที่ทำงาน มีโรงเรียนให้บุตรหลาน โรงพยาบาล  ตลาด
นอกจากเรื่องการใช้ชีวิต การทำงานแล้ว บางคนยังเลือกทำเลจากครอบครัวใหญ่ ก็เป็นอีกสาเหตุก็ได้ หมายถึง การต้องอยู่ใกล้กับพ่อแม่ ญาติ ๆ เพื่อสะดวกในการดูแล เยี่ยมเยียน ปัจจัยในการเลือกทำเลนี้เป็นปัจจัยแรกที่สุดในการเลือกบ้านสักหลัง เพราะจะเป็นตัวกำหนดเรื่องอื่น ๆ ตามมา ตั้งแต่ราคา รูปแบบบ้าน ประเภทของบ้าน ซึ่งจะกล่าวในตอนต่อ ๆ ไป

นายไทยเครดิต
twitter @TCRBank